มัณฑะเลย์

14 มกราคม 2560

คลิกก่อนหน้านี้ พุกาม

“มิงกะลาบา” สวัสดีตอนเช้าจ้า ตื่นขึ้นมาก็เจอกับอากาศหนาวมากๆประมาณ 16 องศาเซนเซียส อากาศหนาวมากๆเลย ดีที่เราเตรียมเสื้อหนาวมาพร้อม ทำให้เราไปเที่ยวต่อได้สบาย

พวกเรารับประทานอาหารที่โรงแรมกันแต่เช้าเวลา 06.00 น.ไม่ต้องรีบเร่งมากเพราะเมืองนี้รถไม่ติดไม่ต้องเผื่อเวลาเหมือนที่ย่างกุ้ง ออกจากโรงแรมเวลา 06.45 น. ใช้เวลาไปสนามบินประมาณ 30 นาทีโดยสายการบิน KBZ airline เครื่องออกเวลา 08.20 น

เรานั่งริมหน้าต่างด้านซ้ายได้ชมวิวทะเลเจดีย์พุกามอีกครั้ง

มองเห็นเจดีย์ชเวชีกองด้วย ..บ้ายบายเมืองพุกาม

ใช้เวลาในการบิน 30 นาที ถึงสนามบินมัณฑะเลย์เวลา 08.50 น. เที่ยวบินนี้เขาไม่มีเสริฟอะไรเลย เราลงจากเครื่องมาอากาศเย็นสบาย ไม่หนาวเท่าที่เมืองพุกาม

มัณฑะเลย์ เป็นอดีตเมืองหลวง และเมืองใหญ่อันดับที่สามของพม่ารองจากนครย่างกุ้งและกรุงเนปยีดอ ตั้งอยู่ในภูมิภาคมัณฑะเลย์ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี ห่างจากย่างกุ้งไปทางทิศเหนือ 716 กิโลเมตร ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1857 โดยพระเจ้ามินดง กษัตริย์องค์ที่ 10 ของยุคคองบอง เทียบเท่ากับยุคของรัชกาลที่ 5 ของประเทศเรา

พระองค์ได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองอมรปุระไปที่เมืองมัณฑะเลย์ เพื่อหนีทหารของจักรวรรดิอังกฤษ ระหว่างสงครามพม่า-อังกฤษ เหตุที่เลือกเมืองนี้เพราะพระเจ้ามินดงทรงพระสุบิน(ฝัน)เห็นภูเขามัณฑะเลย์ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงอมรปุระอยู่บ่อยๆ จึงให้โหรทำนายได้ความว่าควรจะสร้างราชธานีใหม่ขึ้นระหว่างภูเขามัณฑะเลย์กับแม่น้ำอิระวดี เพราะเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับอยู่ที่ด้านหลังพร้อมกับทรงตรัสว่า เมืองนี้ในอนาคตจะเจริญรุ่งเรืองเป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาพุทธที่สำคัญยิ่งในด้านตะวันออก ดังนั้นจึงตั้งชื่อเมืองตามภูเขามัณฑะเลย์ที่อยู่ใกล้เคียงนั่นเอง

เมืองนี้เงียบสงบเหมือนต่างจังหวัดบ้านเรา รถไม่ค่อยติดดี

ไกด์พาพวกเราไปเมืองอมรปุระ อยู่ใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ สถานที่แรกทีพวกเราไปชมคือวัดมหากันดายน

วัดมหากันดายน (Maha Gandhayon Kyaung) ตั้งอยู่ริมทะเลสาบตองตะมาน ใกล้สะพานอูเบ็ง และเป็นวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดของพม่า มีภิกษุและสามเณรมาศึกษาเล่าเรียนทางธรรมกว่า 1,200 คน และมีพระภิกษุจาก ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ มาบวชเรียนด้วย วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้เป็นสถานที่ศึกษาพระธรรมและรักษาพระธรรมวินัยมากที่สุด ด้วยวัตรปฎิบัติอันงดงามของภิกษุสงฆ์ในวัดมหากันดายน ทำให้มีชาวพม่าจำนวนมากส่งบุตรหลานมาศึกษาพุทธศาสนากันที่นี่ และทำให้มีผู้มีจิตศรัทธาจองคิวกันนำภัตตาหารมาถวายพระทั้ง 1,200 รูปไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ดำรงค์อยู่ได้แม้จะได้รับงบประมาณจากรัฐบาลพม่าไม่มากนัก

พระพม่าจะรับบาตรได้ถึง 11.00 น. ที่นี่จะเห็นพระสงฆ์เดินเข้าแถวอย่างสวยงามเพื่อเดินไปฉันอาหารที่หอฉัน

ไปถึงวัดก็เจอกับนักท่องเที่ยวและชาวพม่ามายืนรอกันอยู่

ไกด์ได้อธิบายให้ฟังว่าพระที่วัดแห่งนี้เยอะมากและ ถ้าจะถวายอาหารเขาจะถวายทีละมากๆเลยเพื่อให้พระฉันอาหารเหมือนกันอย่างทั่วถึง ถ้าไม่ได้เตรียมของถวายมามากพอส่วนใหญ่ญาติโยมจะถวายเป็นปัจจัยเพื่อที่จะไปซื้อข้าวสาร ตกกระสอบละ 1,000 บาท โดยจะมอบให้กับเจ้าอาวาสหรือรองเจ้าอาวาส แต่พระที่นี่ไม่รับเงินกับมือจะให้เณรเป็นคนรับไปก่อน

พวกเราร่วมกันถวายข้าวสาร 2 กระสอบ ไกด์จึงพาเดินไปในกุฏิเจ้าอาวาส

ด้านในกุฎิมีพระกำลังเทศน์ให้กับญาติโยมที่มาทำบุญ

หลังจากถวายปัจจัยแล้วพระก็ให้ศีลให้พร พวกเราก็เดินออกมาเพื่อดูพระตั้งแถวรับบาตรกัน

ประมาณ 10 โมงกว่าๆพระก็เริ่มตั้งแถวกันแล้ว ขบวนยาวเหยียด พวกเราก็กุลีกุจอใส่บาตรเป็นอาหารแห้งกัน แต่พระที่นี่เขาไม่เปิดบาตรให้ใส่จึงใส่บนบาตร พอเราถามไกด์ว่าทำไมท่านไม่เปิดบาตร ไกด์ก็บอกว่ามันดูไม่งามถ้าพระเดินไปรับบาตรไปเพราะท่านกำลังเดินไปหอฉํันเพื่อฉันอาหารที่ญาติโยมได้เตรียมอาหารไว้ให้พร้อมแล้ว

หลังจากใส่บาตรด้วยความงง พวกเราก็ไปเที่ยวต่อที่สะพานอูเบ็ง(U Bein Bridge)

ชื่ออูเบ็งนั้นเป็นชื่อของขุนนางที่มีนามว่า “อูเบียน” พระเจ้าปดุงโปรดฯให้มาทำหน้าที่เป็นแม่กองงานสร้างสะพาน ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของเมืองอมรปุระก่อนจะเข้าตัวเมืองมัณฑะเลย์

สะพานอูเบ็ง ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน มุ่งตรงไปยังเจดีย์เจ๊าต่อซึ่งอยู่อีกฟากของทะเลสาบ เป็นสะพานที่ทำจากไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก มีความยาวถึง 2 กิโลเมตร สร้างจากไม้สักที่รื้อมาจากพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะ เมื่อครั้งย้ายเมืองหลวงจากอังวะ มายังอมรปุระจำนวน 1,208 ต้น เพื่อใช้ทำเป็นเสา สะพานมีอายุกว่า 200 ปี

ไม้บนสะพานเป็นของเก่าบ้างและใหม่บ้างเนื่องจากมีการเสื่อมโทรมตามกาลเวลา

ช่วงนี้ค่อนข้างแล้ง แทบไม่เห็นแม่น้ำเลย พวกเราเดินขึ้นไปบนสะพานกันแดดร้อนมากและมองไปเหนเจดีย์ทางด้านซ้าย

ทางด้านซ้ายของสะพานเป็นทุ่งหญ้าปลูกต้นข้าวโพด

ทางฝั่งขวาเป็นทะเลสาบ

พวกเราเดินเล่นบนสะพาน มีนักท่องเที่ยวและคนขายของเต็มไปหมด เราเดินไปจนถึงจุดพักแรกก็เดินกลับเพราะแดดร้อนมาก

เดินได้ไม่นานเราก็ไปเที่ยวที่อื่นกันต่อ

จุดหมายต่อไปไปร้านขายผ้าไหมกัน โดยเป็นทั้งโรงงานและร้านขายผ้าไหม

ไกด์พาพวกเราไปดูในส่วนของโรงทอผ้าไหมก่อน พนักงานทอผ้ากันขมักขเม้นเชียว

width=800>

เขาพาพวกเราไปดูผ้าไหมในร้าน แต่พวกเราก็ไม่ได้อะไรติดมืออีกเช่นเคย เพราะเราคิดว่าไหมไทยสวยกว่าและออกแบบดีกว่าด้วย

เมื่อไม่มีใครซื้ออะไรจึงเดินทางไปรับประทานอาหารกลางวันกัน มื้อนี้เราทานอาหารไทยที่ร้านต้มยำกุ้ง

ร้านนี้เจ้าของเป็นคนไทยมีหลายสาขาที่มัณฑะเลย์

มื้อนี้อาหารอร่อยมาก มีกุ้งแม่น้ำคนละ 1 ตัว ขนมจีนแกงเขียวหวานเส้นสด น้ำพริกหนุ่ม ปลาทอดยำมะม่วง ผัดกระเพรา ทอดมันปลากราย อร่อยจริง พวกเราทานจนเกลี้ยง..อิ่มแปร้เลย

ไกด์บอกว่ากลางวันที่เมืองนี้แดดร้อนมาก จึงให้พวกเราไปพักผ่อนตามอัทยาศัยที่โรงแรมกันก่อน เดี๋ยวบ่ายๆค่อยออกมาเที่ยวพระราชวังมัณฑะเลย์กัน

Hotel Hazel เป็นโรงแรมเปิดใหม่ พวกเรามาพักผ่อนที่โรงแรมกันประมาณ 1.30 ชมก็ไปเที่ยวต่อ

ออกจากโรงแรม 14.45 น.ก็เดินทางไปเที่ยวพระราชวังมัณฑะเลย์ต่อ

ทางเข้าพระราชวังมัณฑะเลย์ต้องผ่านคูน้ำที่กว้างมาก

พระราชวังมัณฑะเลย์ ( Mandalay Palace) สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เป็นพระราชวังสุดท้ายแห่งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของพม่า ถูกก่อสร้างขึ้นมาโดยพระเจ้ามินดง ระหว่างปี ค.ศ. 1857-ค.ศ. 1859 ใข้เวลาสร้างเพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งคิดดูแล้วกันว่าจะใช้คนสร้างมากแค่ไหน

แม้พระเจ้ามินดงจะได้ชื่อว่า “ธรรมกษัตริย์” แต่ก็ยังเชื่อถือในพิธีโบราณเรื่อง“อาถรรพ์เมือง” ดังนั้นการสร้างเมืองใหม่มัณฑะเลย์จึงมีการนำคนเป็นๆมาฝังถึง 52 คน ทั้งตามมุมเมือง ประตูเมือง ประตูพระราชวัง และ 4 มุมกำแพงเมือง รวมถึงใต้พระที่นั่งในท้องพระโรงก็ต้องฝังคนเป็นๆไว้ถึง 4 คนด้วย อาจจะเป็นบาปกรรมทำให้ราชธานีมัณฑะเลย์ที่สร้างอย่างยิ่งใหญ่ ต้องล่มสลายภายในเวลาเพียงแค่ 28 ปี เท่านั้น

พอรถขับผ่านคูน้ำ ก็เห็นกำแพงยาวมาก

พระราชวังถูกทำลายโดยทหารอังกฤษ โดยทางอังกฤษคิดว่าพระราชวังนี้เป็นแหล่งซ่องสุมของทหารญี่ปุ่น จึงได้ทำลายพระราชวังด้วยการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1945 ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

ทางเข้าพระราชวัง มีปึนใหญ่อยู่ 1 คู่ตั้งอยู่ด้านหน้า

ปัจจุบันได้รับการบูรณะโดยรัฐบาลพม่า ในปี1989 โดยการลอกแบบโครงสร้างเดิมจากฐานวังเก่าจะมีท้องพระโรง บังลังก์ ห้องกษัตริย์ ห้องมเหสีเอก ซ้าย ขวา และนางสนมอื่นๆของเดิมมีทั้งหมด 114 ห้อง พอจำลองขึ้นมาใหม่มีเพียง 66 ห้อง เสร็จสิ้นปี 1996 ใช้เวลา 7 ปี ในการบูรณะ

บริเวณภายในราชวังมีรูปอาณาเขตพระราชวัง ช่างใหญ่จริง

ทางเข้าภายในพระราชวัง ผ่านเสาไม้สักสูง 24 เมตร

เข้ามาภายในก็เจอกับบังลังก์และรูปจำลองพระเจ้ามินดงและพระมเหสีอเลนันดอ อยู่ในห้องกระจก

เล่ากันว่าในยุคสมัยของท่านถึงแม้ท่านจะสนใจในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก แต่ในวังหลังมีการแก่งแย่งชิงอำนาจกันมากมาย

พระเจ้ามินดงทรงมีพระมเหสีและสนมมากถึง 45 องค์ มีโอรสและพระธิดา 134 องค์ มีพระอัครมเหสี(มเหสีเอก) คือ พระนาง“นัมมะดอ” และพระมเหสีรอง คือพระนาง “อเลนันดอ” ที่ทะเยอทะยาน มักใหญ่ใฝ่สูง และนางเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้ามินดง จนขึ้นเป็นมเหสีเอกและได้ออกว่าราชการพร้อมกับพระองค์

หลังจากพระองค์สวรรคต ทรงไม่มีรัชทายาท ดังนั้นพระนางอเลนันดอจึงวางแผนแต่งตั้ง“เจ้าชายสีป่อ”ที่เป็นโอรสจากสนมอื่นแต่เป็นคนหัวอ่อน ชักจูงง่ายขึ้นครองราช และให้แต่งงานกับลูกสาวของตนเองทั้ง 3 องค์ ส่วนตัวพระนางชักใยอยู่เบื้องหลังอีกที ว่ากันว่าในวันที่พระองค์ครองราช ได้มีการกำจัดองค์ชายอื่นๆ เจ้าจอมมารดาและข้าราชการที่ไม่เห็นด้วยไปมากมาย ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 คืน (ทำเฉพาะกลางคืนเพื่อไม่ให้ชาวบ้านรู้) และมีการมอมเหล้าพระเจ้าสีป่อพร้อมกับประโคมมโหรีเพื่อกลบเสียงร้องโหยหวนที่น่าสยดสยอง

หลังจากพระนางอเลนันดอได้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ พระองค์ก็ทรงกดขึ่ชาวบ้าน ขึ้นภาษี รีดนาทาเร้น จนราชวงค์อ่่อนแอ อังกฤษเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะโจมตีจึงยกทัพมาตีใช้ทหารแค่ 7,000 กว่านายในขณะที่พม่ามีกำลังพล 70,000กว่านาย แล้วก็จับกษัตริย์สีป่อส่งไปอินเดียและให้กษัตริย์อินเดียมาอยู่พม่า และในวันที่ 1 มกราคม 1886 ก็ประกาศว่าพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ดังนั้นประเทศพม่าจะไม่ชอบวันปีใหม่เลย

จะเข้าไปสู่ห้องโถงและห้องบรรทม

พระเจ้าสีป่อกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า พระองค์ทรงครองราษฎร์ไม่ถึง 7 ปีก็เสียเอกราชให้อังกฤษ

เข้าไปเจอโถงมีรูปปั้นจำลองพระเจ้าสีป่อกับพระนางศุภยลัต กษัตริย์องค์สุดท้ายและพระมเหสี

พระเจ้าสีป่อทรงมีพระมเหสีชื่อพระนางศุภยลัต พระนางทรงเป็นร้ายกาจและขี้หึงมาก ถ้าพระเจ้าสีปอทรงมีสนมหรือผู้หญิงอื่นจะโดนกำจัดหมดไม่ทันข้ามคืน และหลังจากที่พระองค์ทรงเป็นมเหสีแล้วพระองค์ทรงให้พระมารดา(พระนางอเลนันดอ)ที่ทรงสนับสนุนพระนางมาตลอดไปประทับอยู่ที่วังอื่นพร้อมกับพี่สาวของพระนาง

หลังตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าพระเจ้าสีป่อกับพระนางศุภยลัตถูกเนรเทศอยู่ที่อินเดียนาน 31 ปี จนพระเจ้าสีป่อสิ้นพระชนม์ที่เมืองรัตนคีรี พระศพพระองค์ถูกฝังไว้ที่อินเดีย ส่วนพระนางศุภยลัตได้รับอนุญาตให้พาลูกสาวกลับไปอยู่ย่างกุ้ง พระองค์ทรงใช้ชีวิตสงบเสงี่ยม สุภาพ น่าสงสาร จนสิ้นพระชนม์

พระเจ้าสีปอและพระนางศุภยลัต

ด้านหลังมีเตียงนอนของพระเจ้าสีป่อ

พระราชวังยังคงประดับประดาสวยงาม

เดินออกมาเป็นลานกว้าง

ไกด์บอกว่าอาคารเหล่านี้เป็นเรือนพักของพระมเหสีและสนม

ป้อมสี่เหลี่ยมเล็กๆบนหลังคาเป็นที่สำหรับทหารยามไว้ไล่ นก กา ไม่ให้มาบินโฉบเฉี่ยวอยู่เหนือบรรดาพระราชวงศ์ทั้งหลาย เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งอัปมงคล

หอคอยนี้ในอดีตใช้เป็นที่ส่องชมเมืองมัณฑะเลย์ และให้ทหารคอยสอดส่องดูกองทัพเรือของอังกฤษ

เห็นนักท่องเที่ยวเดินขึ้นบนนี้กันแต่พวกเราไม่ได้ขึ้นไปชมกัน เพราะเดี๋ยวตอนเย็นเราจะไปชมพระอาทิตย์ตกดินกัน

จากนั้นพวกเราก็ไปชมวัดชเวนันดอร์กันต่อ

วิหารชเวนันดอร์ (Shwenandaw Kyaung ) เป็นศาลาที่สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง หลังคาของวัดชเวนันดอว์เป็นทรงปราสาท 5 ชั้น มีความสวยงามเป็นอย่างมาก เป็นยอดสถาปัตยกรรมงานแกะสลักไม้ของพม่าที่งดงาม

เมื่อสมัยพระเจ้ามินดงทรงมีพระชนม์ ท่านนั่งปฏิบัติธรรม นั่งบำเพ็ญสมาธิ และสุดท้ายก็สิ้นพระชนม์ภายในพระตำหนักหลังนี้ณ.พระราชวังมัณฑะเลย์ หลังจากที่พระเจ้ามินดงสิ้นพระชนม์ลง พระเจ้าสีป่อพระโอรสทรงเสียพระทัยมากไม่อาจทนดูตำหนักหลังนี้ได้เพราะอาลัยพระบิดามาก จึงให้ยกตำหนักทั้งหลังมาตั้งไว้ที่วัดแห่งนี้ ดังนั้นจึงเหลือตำหนักของแท้เพียงหลังเดียวจากทั้งหมด 114 หลัง เนื่องจากพระราชวังมัณฑะเลย์ได้ถูกทำลายลงในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่วัดชเวนันดอร์ไม่ถูกทำลายและยังหลงเหลือความงดงาม ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม

ต่อมาพระเจ้าสีปอทรงใช้ศาลานี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมส่วนพระองค์ ภายหลังจึงได้ถวายให้เป็นเสนาสนะสงฆ์ และได้จัดงานฉลองครบรอบ 100 ปี ไปเมื่อปี ค.ศ. 1979

ลวดลายไม้สลักที่อยู่ทั่วบริเวณวิหาร ส่วนใหญ่แล้วลายสลักจะมีอยู่ที่กรอบประตู บานประตู ระเบียง เชิงชาย นับเป็นการแกะสลักที่ยากจะหาฝีมือช่างที่ใดเสมอเหมือน

ประตูไม้แกะสลักอย่างสวยงาม

พวกเราไปดูด้านในกันบ้าง

ในสมัยก่อนวิหารแห่งนี้เคยหุ้มด้วยทองประดับกระจกสีทั้งภายในและภายนอก แต่เวลานี้ทองได้หลุดลอกออกหมด ยังคงให้เห็นอยู่บ้างบางส่วน

แม้แต่เสาก็แกะสลักลวดลายงดงาม

พวกเราเดินออกมาด้านนอก เก็บอีกรูปก่อนจากลา

ด้านในเป็นหอคัมภีร์เก็บพระไตรปิฎก แต่พวกเราไม่ได้เข้าไป

จากนั้นพวกเราก็ไป Mandalay Hill กันต่อ

ภูเขามัณฑะเลย์มีความสูง 236 เมตร เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมองเห็นเมืองทั้งเมืองและมีปูชนียสถานสำคัญๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ทั้งธรรมชาติ การชมทิวทัศน์อันสวยงาม และสามรถมองเห็นเมืองมัณฑะเลย์ ได้เกือบทั้งเมือง หากใครอยากเดินขึ้นเขา ที่นี่มีบันไดถึง 7,292 ขั้น

วิธีการขึ้นเขาโดยการเดิน หรือใช้ลิฟท์ แต่พวกเราใช้ลิฟท์ขึ้นไปเพราะไวดี

ด้านบนมีพระพุทธรูปให้กราบไหว้

วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่ทิศ

เล่ากันว่า งู 2 ตัวนี้เฝ้าอยู่ที่ภูเขาแห่งนี้ และมีพราหมณ์มาสวดมนต์ภาวนาจนงู 2 ตัวนี้ไป จากนั้นได้ทำรูปปั้นบูชา เชื่อกันว่าสามารถอธิฐานขอโชคขอลาภกันได้

เก็บบรรยากาศที่งดงาม

รอบวิหารมีระเบียงสำหรับชมทัศนียภาพเมืองมัณฑะเลย์ และสามารถมองเห็นแม่น้ำอิระวดี พระบรมมหาราชวัง วัดกุโสดอว์

ตะวันใกล้ตกแล้ว

ถ่ายรูปเก็บแสงสุดท้ายของวัน

จากนั้นพวกเราก็ไปทานอาหารเย็นต่อที่ร้านอาหารจีน Golden Duck

มื้อนี้มีเป็ดย่างด้วยเป็ดอร่อยดี แต่เรากินอย่างอื่นได้ไม่มากเพราะอาหารรสชาติไม่ถูกปาก

จากนั้นเราก็ไปพักผ่อนที่โรงแรม

พวกเรารีบเข้านอนเพื่อที่จะไปร่วมพิธีศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี

วันที่ 15 มกราคม 2560 เราออกจากโรงแรม03.45 น.เพื่อที่จะไปร่วมพิธี

สิ่งที่เราต้องเตรียมไปคือกระดาษทอง และผ้าเช็ดหน้าสำหรับเช็ดหน้าพระมหามัยมุนีระหว่างทำพิธีเพื่อนำกลับมาบูชา

พม่ามี 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ได้แก่

1.เจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง
2.พระธาตุอินทร์แขวน เมืองไจ่ก์โถ่
3.เจดีย์ชเวมอดอร์(เจดีย์มุเตา) เมืองหงสาวดี
4.เจดีย์ชเวซิกอง เมืองพุกาม
5.พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย์

พอมาถึงก็เจอคนเยอะมากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย มาแต่เช้าเชียว

พระมหามัยมุนี เป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยทรงเครื่อง หน้าตักกว้าง 9 ฟุต สูง 12 ฟุต พระจันทสุริยะกษัตริย์แห่งแคว้นยะไข่ โปรดฯให้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 689 ด้วยความศักดิ์สิทธิ์และความวิจิตงดงามของพระมหามัยมุนีทำให้เป็นที่หมายปองของกษัตริย์พม่ามาหลายยุคหลายสมัย แต่ไม่มีผู้ใดสามารถอัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้ออกไปจากเมืองยะไข่ได้ กระทั่งมาถึงในสมัย พระเจ้าปดุง จึงสามารถอัญเชิญมาไว้ที่อมรปุระก่อนและต่อมาประทับที่มัณฑะเลย์ในปี พ.ศ. 2327

องค์ท่านเป็นทองอร่าม….. ชาวพม่าและนักท่องเที่ยวจะตื่นกันราวตีสาม เพื่อมารอดูการทำพิธีล้างหน้าพระพักตร์ในช่วงตี 4 เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ทุกวันไม่มีวันหยุด

พิธีนี้เริ่มทำมาตั้งแต่เมืองอมรปุระ มาจากความเชื่อนับแต่โบราณกาลของชาวพม่าที่ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ได้รับประทานลมหายใจจากพระพุทธเจ้า จึงเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต มีลมหายใจ ตั้งนั้นจึงต้องจัดพิธีล้างหน้า แปรงฟัน เหมือนกับคนเราในทุกๆเช้า และมีการปฏิบัติสืบทอดกันมานับเป็นเวลาร้อยปี

ผู้ทำพิธีจะต้องเป็นพระสงฆ์ที่เคร่งที่สุดซึ่งท่านต้องบวชมาตั้งแต่เด็กและต้องสืบทอดเกี่ยวกับการล้างพระพักตร์โดยที่ท่านไม่สามารถไปต่างประเทศหรือไกลๆได้ เพราะต้องทำพิธีล้างหน้าทุกเช้า พอตกเย็นต้องมาปิดประตูให้เรียบร้อย

การล้างพระพักตร์จะนำน้ำทานาคามาล้างหน้าและขัดด้วยผ้าให้เงาวับ

การเข้าไปร่วมพิธีผู้ชายสามารถเข้าร่วมพิธีในแถวหน้าๆได้แต่ผู้หญิงไม่สามารถเข้าใกล้ได้จะมีแผงเหล็กกั้นไว้ หลังจากเสร็จพิธีผู้ชายสามารถปิดแผ่นทองเปลวได้ ส่วนผู้หญิงต้องฝากผู้ชายไปปิด ส่วนผ้าเช็ดหน้าเราฝากไกด์ไปให้ผู้ช่วยทำพิธีนำไปให้พระเช็ดพระพักตร์ เสร็จแล้วก็ส่งคืนให้กับเราพร้อมกับน้ำทานาคาที่เหลือจากการทำพิธี 1 ขวด

ท่านได้รับการขนานนามว่า”พระพุทธรูปเนื้อนิ่ม”หรือ “พระเจ้าเนื้อนิ่ม” เนื่องจากมีการปิดทองท่านจนหนาและเป็นตะปุ่มตะป่ำโดยประชาชนที่ศรัทธามาเป็นร้อยๆปี ว่ากันว่ามีการลอกทองเปลวเก่าออกหลายครั้งแล้ว ไม่อย่างนั้นคงเห็นท่านองค์ใหญ่กว่านี้

ด้านหลังพระองค์ท่าน

หลังจากเสร็จพิธีเราก็กลับโรงแรมเพื่อทานอาหารเช้า จากนั้นพวกเราก็นอนพักผ่อน จนกระทั้ง 10.00 น.พวกเราก็เดินทางไปยังสนามบินมัณฑะเลย์เพื่อกลับกทมและขึ้นเครื่องเวลา 12.55 น.ใช้เวลาเดินทางกลับ 1.50 ช.ม.

ทริปนี้อิ่มอกอิ่มใจได้เที่ยวและยังได้ทำบุญอีก นอกจากนี้ยังได้กราบสิ่งศักดิ์สิทธ์ของพม่า 3 สิ่ง โอกาสหน้าจะมาเที่ยวพม่าใหม่เพื่อจะกราบสิ่งศักดิ์สิทธื์ให้ครบ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here